งานช่างประดับมุก

สถาบันศิลปกร กรมศิลปากร
ส่วนช่างสิบหมู่


งานช่างมุก เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นเยี่ยมแขนงหนึ่งที่มีปรากฏการสร้างสรรค์งานแขนงนี้ เพียงไม่กี่ประเทศในโลก ที่มีชื่อเสียงมากก็เป็นประเทศแถบเอเชียได้แก่ประเทศจีน , เวียดนาม , ญี่ปุ่น และไทย ซึ่งมีวิธีการสร้างงานที่แตกต่างกันบ้างในขั้นตอนขบวนการผลิตของแต่ละประเทศ และไม่สามารถทราบได้ว่าประเทศใดเป็นต้นแบบการสร้างงานแขนงนี้เป็นครั้งแรก ของโลก สำหรับประวัติความเป็นมาของงานช่างมุกในประเทศไทยมีเช่นไรต้องศึกษาจากชิ้น ผลงานที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่บานประตูประดับมุกสมัยอยุธยาในพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติพระนคร ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ การสร้างสรรค์งานประเภทนี้มักนิยมสร้างเพื่อสนองต่อสถาบันพระพุทธศาสนาและ พระมหากษัตริย์เพราะถือว่าเป็นงานปราณีตศิลป์อันล้ำค่าต้องใช้งบประมาณสูง และฝีมือช่างชั้นยอด ตัวอย่างชิ้นผลงานเช่น บานประตูและบานหน้าต่างประดับมุกของพระอุโบสถ,วิหาร,ปราสาท,พระราชวังเป็น ต้น อีกทั้งเครื่องใช้ของพระภิกษุสงฆ์,องค์พระมหากษัตริย์และขุนนางเชื้อพระวงศ์ ผู้สูงศักดิ์ ตัวอย่างชิ้นผลงานเช่น พาน,ตะลุ่ม,พานแว่นฟ้า,หีบ,กล่องและตู้พระธรรมเป็นต้น
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานช่างมุกไทย

- เปลือกหอย จะต้องเป็นเปลือกหอยชนิดที่มีไฟคือมีการสะท้อนแสงออกเป็นสีรุ้งแวววาว เช่น หอยอูด(หอยมุกไฟ) , หอยนมสาว , หอยเป๋าฮื้อและหอยมุกจานเป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นหอยได้จากทะเล และมีหอยน้ำจืดบางชนิดเท่านั้นที่สามารถนำมาใช้งานได้ได้แก่หอยกาบ
- ยางรัก และ สมุก(ถ่านจากกะลามะพร้าวบดละเอียด) ผสมกันเรียกรักสมุกใช้ทำพื้น,ประดับลายและถมพื้น
- หุ่น คือชิ้นงานที่จะประดับมุก โดยมากสร้างขึ้นจากไม้หรือหวายโดยการสานขึ้นหุ่นหรือขึ้นรูปด้วยขบวนการช่าง ไม้ – โครงเลื่อยฉลุของช่างทอง,ใบเลื่อยฉลุไม้,ตะไบ,คีมปากจิ้งจก,ปากคีบ.กระดาษ ทรายและกาว
- มอเตอร์หินเจียร,เครื่องขัดไฟฟ้า

ขั้นตอนการปฏิบัติงานช่างมุก
1. ขั้นเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่
การเตรียมเปลือกหอย
• การเตรียมเปลือกหอยคือการนำเปลือกหอยมาขัดเจียรเพื่อไล่หินปูนที่เกาะผิวนอกออกให้หมดให้ถึงชั้นที่ใช้งาน
• แล้วทำการตัดแบ่งชิ้นมุกให้มีขนาดเหมาะสมแก่การใช้งาน
• สุดท้ายขัดแต่งชิ้นมุกให้มีความหนาบางสม่ำเสมอกันเหมาะแก่การนำไปใช้งาน การเตรียมพื้นหุ่น
• การขัดแต่งผิวให้ได้ระนาบ
• รองพื้นด้วยรักสมุกให้เรียบพอเหมาะสะดวกแก่การประดับลาย ข้อสำคัญถ้าหุ่นเป็นประเภทมีเหลี่ยมมุมมากๆเช่นตะลุ่มหรือเตียบจะต้องขัด แต่งให้เหลี่ยมมุมที่จะประดับลายเหมือนๆกันให้มีขนาดใกล้เคียงกันเพื่อสะดวก ในการประดับลาย

2. ออกแบบลาย ควรออกแบบลายให้เหมาะสมแก่ชิ้นงานแต่ละชนิดและจะต้องเข้าใจลักษณะของลาย ประดับมุกคือตัวลายมุกจะต้องถูกแบ่งออกจากกันเป็นตัวๆ เนื่องจากเปลือกหอยมุกส่วนใหญ่มีความโค้งไม่สามารถนำลายชิ้นมุกที่โค้งมาวาง ประดับบนพื้นงานที่เป็นระนาบเรียบๆได้จำต้องแบ่งตัวลายออกเป็นชิ้นเล็กๆ สั้นๆจึงจะสามารถประดับลายได้สะดวก เมื่อได้ลวดลายที่ต้องการแล้วนำมาคัดลอกหรือถ่ายเอกสารไว้ประมาณ 3 – 4 แบบสำหรับใช้งานดังนี้
• แบบที่หนึ่งเป็นแบบใช้ตรวจทานความเรียบร้อยในการประดับลายมุก
• แผ่นที่สองเป็นแบบสำหรับผนึกลงบนผิวชิ้นมุกเพื่อโกรกฉลุลาย
• แผ่นที่สาม สำหรับนำชิ้นลายมุกที่ฉลุและขัดแต่งขอบลายแล้วมาผนึกลงบนแบบด้วยกาวน้ำเพื่อ รอการประดับบนพื้นงานจริง,ป้องกันการสับสนหลงลายและสูญหายเนื่องจากมีจำนวน ชิ้นลายมากและขนาดเล็ก เมื่อเตรียมลายเรียบร้อยแล้วทำการผนึกลงบนผิวชิ้นมุกเพื่อโกรกฉลุลายต่อไป

3. โกรกฉลุลาย โดยใช้โครงเลื่อยฉลุเลื่อยลายออกเป็นตัวๆ นำชิ้นลายแต่ละตัวมาขัดแต่งขอบลายเพื่อลบคลองเลื่อยและทำให้ลายสวยงามตามที่ ออกแบบไว้ด้วยตะไบขนาดต่างๆและกระดาษทราย นำลายที่ขัดแต่งขอบไปผนึกบนแบบลายที่เตรียมไว้เพื่อรอการประดับจริงบนชิ้น งาน

4. ประดับลาย คัดลอกลายลงบนชิ้นงานโดยวิธีลูบฝุ่นโรยลายแบบช่างลายรดน้ำ ถอดลายมุกจากแผ่นแบบทีละตัวนำมาผนึกลงบนชิ้นงานในตำแหน่งที่ถูกต้องของตัว ลายโดยใช้ยางรักและรักสมุกเป็นตัวประสาน ทำการประดับลายจนครบทิ้งให้ยางรักแห้งสนิททายางรักเคลือบทับหน้าอีกชั้น เพื่อประสานลายมุกให้ติดสนิทกับพื้นชิ้นงานยิ่งขึ้นก่อนถมลาย

5. ถมลายด้วยรักสมุก หลังจากยางรักแห้งสนิทนำยางรักมาผสมกับสมุกให้เหนียวพอดีนำรักสมุกมาถมลง ร่องระหว่างตัวลายมุกให้มีปริมาณครึ่งหนึ่งของร่องลายให้ทั่วทั้งชิ้นงาน ทิ้งให้แห้งสนิทดำเนินการถมรักสมุกรอบต่อไปอีกสองถึงสามชั้นตามกรรมวิธีเดิม จนเต็มร่องลายทิ้งให้แห้งสนิททุกครั้งก่อนถมชั้นต่อไป (ยางรักจะแห้งสนิทใช้เวลา 5 ถึง7วันต่อครั้ง)

6. ขัดแต่งผิวหน้าชิ้นงาน เมื่อยางรักแห้งสนิททำการขัดแต่งผิวหน้าชิ้นงานด้วยหินกากเพชรและกระดาษทราย ขนาดความหยาบต่างๆกัน ขัดจนปรากฏลายมุกใช้กระดาษทรายละเอียดขัดแต่งให้เรียบและปรากฏลายมุกอย่าง ครบสมบูรณ์ทั่วทั้งชิ้นงาน

7. ขัดมัน โดยใช้ใบตองแห้งฉีกเป็นฝอยชุบน้ำมันมะพร้าวเล็กน้อยขัดถูผิวชิ้นงานพร้อมโรย ผงสมุกชนิดละเอียด ขัดให้เกิดความร้อนนานๆด้วยมือผิวชิ้นงานจะค่อยๆเป็นมันขึ้นตามธรรมชาติโดย ไม่ต้องใช้น้ำมันเคลือบเงา
งานช่างมุกเป็นงานที่มีขั้นตอนและขบวนการผลิตที่ละเอียดอ่อนและประณีตบรรจง มาก เป็นงานศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าคู่แผ่นดินไทยมานานแสนนาน ดังนั้นเราจึงควรสืบทอดและอนุรักษ์งานช่างแขนงนี้ไว้ให้อยู่คู่ความเป็นไทย ตลอดไป

งานช่างประดับมุก
คืองานศิลปหัตถกรรมที่มีมาแต่โบราณเป็นานช่างฝีมือที่ต้องใช้ทักษะในการฉลุเปลือกหอยมุก ประดับเป็นลวดลาย ใช้ความประณีตและมีระยะเวลาในการทำงาน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มในสมัยใด แต่มีผลงานที่มีการใช้วิธีการฝังมุกประดับเป็นลวดลายตกแต่งบนปูนปั้นที่เจดีย์ในสมัยทวาราวดี ในสมัยเชียงแสนมีการฝังมุกที่พระเนตรของพระพุทธรูป และมีหลักฐานการประดับมุกหลายอย่างในสมัยอยุธยา ประเทศใกล้เคียงที่มีวิธีการประดับมุกคล้ายของไทย คือจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม มุกที่นำมาประดับลวดลายคือเปลือกหอยทะเลที่มีประกายสีรุ้ง เป็นเปลือกหอยมุกมีสีวาววาม เช่น หอยนมสาว หอยจอบ หอยอูด เป็นต้น การประดับมุกนิยมประดับเป็นลวดลายบนภาชนะของสงฆ์และพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็นของใช้ชั้นสูง ได้แก่ ตู้พระมาลัย ธรรมาสน์ ตะลุ่ม พานแว่นฟ้า ฝาบาตร กล่องใส่หมากพลู และประดับเป็นลวดลายบนบานประตูวิหาร บานประตูมณทป บานประตูพระอุโบสถ ลวดลายที่ใช้นิยมใช้ลายไทย เช่น ลายกนก ลายประจำยามก้ามปู ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ ลายกระจัง ลายก้านขด หรือลวดลายที่เป็นเรื่องจากวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์ ซึ่งช่างประดับมุกจะต้องมีความชำนาญออกแบบลวดลายให้เหมาะสมสัมพันธ์กับรูปทรงของภาชนะหรือบริเวณว่างที่ต้องใช้ลวดลายมุกประดับ ให้มีความสวยงามกลมกลืนกันและสืบสานศิลปไทยโบราณต่อไปphoto: jitdrathanee.com/muk/02th/01t.htm, kanchanapisek.or.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น